จุดเริ่มต้นของโครงการ จุดมุ่งหมาย วิทยากร กำหนดการ สถานที่และ
การเดินทาง
การรับสมัคร เอกสารเผยแพร่ ประมวลภาพ

 

สัมภาษณ์ โทมัสเคราส์ผู้ริเริ่มการประชุมสภาคนพิเศษแนวมนุษยปรัชญา
งานประชุมสภาคนพิเศษ “ ก้าวไปด้วยกัน “ครั้งที่ ๒
จ.ระยอง ประเทศไทย
๑๖ – ๑๙ พ.ค. ๒๕๕๗

           ก่อนอื่นผมขอบอกว่าผมดีใจมากที่ได้มาเมืองไทยเป็นครั้งที่ ๒  ผมเคยมาเมืองไทยเมื่อสองปีก่อนตอนที่เราจัดงานประชุมสภาคนพิเศษครั้งแรกในประเทศไทย   ความคิดริเริ่มในการจัดประชุมสภาคนพิเศษนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี ๑๙๙๘ ที่กรุงเบอร์ลิน นครหลวงของประเทศเยอรมนี   ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยมีการประชุมที่บุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้มาพบปะ มาร่วมประชุมกัน    มีแต่การประชุมสำหรับบุคคลในสาขาวิชาชีพต่างๆที่ทำงานเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ  เราคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นก้าวย่างใหม่ที่ทำให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้มาพบปะกัน

           ในการประชุมสภาคนพิเศษครั้งแรกนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุมราว  ๕๐๐ คน จากนั้นการประชุมลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๑๒  - ๑๓ ปี  บางปีมีผู้เข้าร่วมประชุม ๖๐๐ – ๗๐๐ คน การประชุมสภาคนพิเศษในยุโรปครั้งที่ ๕ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย มีตัวแทนจากประเทศ บราซิลและอินเดียเข้าร่วมประชุมด้วย   เราใช้ชื่อการประชุมครั้งนั้นว่า  In der BegegnungLebensซึ่งแปลว่า การมาพบปะกัน  ซึ่งสื่อหมายถึงบุคคลที่มีความต้องการพิเศษมีสิทธ์ มีโอกาสจะได้พบกันเหมือนคนทั่วไป

           จากนั้นการประชุมลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นทั่วยุโรป จนผมมีความคิดว่าการประชุมลักษณะนี้ควรเกิดขึ้นทั่วโลก ผมจึงริเริ่มการจัดประชุมสภาคนพิเศษนอกยุโรปโดยพยายามหาใครสักคนหนึ่งที่สนใจจะจัดการประชุมลักษณะนี้ในประเทศนั้นผมพยายามอธิบายให้เข้าใจถึงเป้าหมายการประชุมซึ่งหากเขาหรือเธอสนใจก็จะสร้างทีมงาน ประสานกับหน่วยงานต่างๆในประเทศ ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แล้วก็ถึงวันที่การประชุมสภาคนพิเศษเกิดขึ้น เป็นการประชุมสภาคนพิเศษครั้งที่ ๑ ในประเทศนั้นๆ แน่นอนว่าผลของการประชุมคือความสุขของผู้เข้าร่วม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีของผู้เข้าร่วม แน่นอนว่าพวกเขาปรารถนาจะมาพบกันอีกครั้งซึ่งนั่นจะเป็นที่มาของการประชุมครั้งต่อไป   ความสนใจในการจัดประชุมสภาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกาใต้ และมีกลุ่มที่มีความคิดริเริ่มเข้มแข็งในประเทศรัสเซียในเอเชียมีประเทศไทย และผมกำลังดำเนินการจัดการประชุมลักษณะนี้ขึ้นในประเทศจีน

ผมอยากกล่าวถึงการประชุมสภาคนพิเศษครั้งที่ ๒ ในประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจมากที่มิตรภาพระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว   พวกเขาเปลี่ยนแปลงไปมากจากวันแรกที่มาพบกัน   ในตอนต้นพวกเขารู้สึกเขินอายแต่ก็ค่อยๆปรับตัว เปิดตัว เป็นตัวขอวตัวเองมากขึ้น และพยายามแสดงออกมากขึ้น

           การจัดประชุมครั้งแรกกับครั้งที่ ๒ ต่างกันคือในครั้งที่สองนี้ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากภูมิภาคต่างๆของประเทศ มิใช่เฉพาะกรุงเทพและปริมณฑลอย่างในครั้งที่ ๑ ในครั้งที่สองนี้พ่อแม่ผู้ดูแลเป็นจำนวนมากได้เข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ผู้จัดก็สามารถทำได้ดีมากที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความต้องการพิเศษได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองอีกปัจจัยที่ผมอยากกล่าวถึงคือ สถานที่ที่ติดทะเล เปิดสู่ท้องทะเล ทุกอย่างยอดมาก ผมมีความสุขมากที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ไม่มีอุบัติเหตุ   ทุกคนมีความสุข   อากาศดี   ทุกคนมีมิตรภาพต่อกัน    และสำคัญที่สุดคือผมตั้งตารอการประชุมสภาคนพิเศษครั้งที่ ๓ เพราะผมรู้สึกว่าหลังการประชุมยังคงต้องมีการรวมกลุ่มต่อเนื่องไป  ในขณะเดียวกันการประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในยุโรป   และผมหวังว่าอีก ๒ – ๓ ปีจะกลายเป็นความเคลื่อนไหวในระดับนานาชาติทั่วโลก

ถาม   ทำไมเมืองไทยต้องจัดการประชุมแนวนี้

ตอบ   เท่าที่ผมทราบในเมืองไทยยังไม่มีสถานที่รองรับ( ในลักษณะอยู่ประจำเป็นชุมชน )ผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษ ส่วนมากจะอยู่กับครอบครัว   คำถามคือเราจะสามารถสร้างชุมชนที่พวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างอิสระได้อย่างไรหากพ่อแม่ไม่สามารถอยู่ดูแลเขาไปได้ตลอด  ดังนั้นการประชุมสภาคนพิเศษก็อาจเป็นการแสดงภาพความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกัน  การเริ่มคิดเรื่องนี้ การหาคำตอบและข้อสรุปในประเด็นนี้

           แต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันในสหรัฐอเมริกาอาจมีชุมชนหรือสถาบันสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษอยู่มากมาย  มีเม็ดเงินมากมาย ในขณะที่เมืองไทยไม่มีอย่างในอเมริกา ผมได้พยายามมา ๕ ปีแล้วที่จะจัดการประชุมลักษณะนี้ขึ้นในอเมริกาทั้งๆที่อเมริกามีเงิน มีสถานที่ มีทุกอย่าง แต่ประเทศเล็กๆ จนๆอย่างเมืองไทยกลับสามารถจัดการประชุมขึ้นมาได้ซึ่งเป็นสิ่งที่พิเศษมากสำหรับผม ผมคิดว่าสิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวใหม่ๆในสังคมไทยที่ผู้ใหญ่ที่มีความต้องการพิเศษได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ได้รับการปฎิบัติที่ดีและการยอมรับมากขึ้นจากสังคม เหมือนคนทั่วๆไป นั่นหมายถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของสังคม ดังนั้นการประชุมสภาคนพิเศษจึงเป็นพื้นที่สำคัญมากที่จะทำให้พวกเขาและเธอรู้สึกเข้มแข็ง มั่นใจและมีโอกาสได้เอ่ยความในใจกับสังคม

......................................................................................................................................................................................................


แปลและเรียบเรียงโดย   อัญชนา  สุนทรพิทักษ์
๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗